ทำที่สุดแห่งทุกข์

ความคิดเห็น

  1. เคล็ดลับการทำสมาธิ

    การทำสมถะ ทำสมาธิ ถ้าไม่รู้หลักยากมากเลย หลวงพ่อเรียนตั้งแต่ 7 ขวบ ทีแรกยังไม่ได้หลักหรอก แต่อาศัยว่าเป็นเด็ก เด็กมันไม่ได้คิดมาก ท่านพ่อลีท่านบอกให้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุทออกโธ นับ 2 ท่านสอนอย่างนี้ เราก็ทำเลย มันไม่คิดมากหรอกว่าทำแล้วมันจะได้อะไรขึ้นมา ไม่นานจิตใจมันก็สงบ จิตใจมีความสุข มีความสงบอยู่กับตัวเอง น่าจะตัวนี้ด้วยที่ทำให้หลวงพ่อไม่อยากไปยุ่งกับโลกข้างนอก เพราะเรามีความสุขอยู่ในโลกภายในของเราแล้ว โลกข้างนอกมีแต่ความวุ่นวาย คนนั้นอย่างนั้นคนนี้อย่างนี้ มีแต่เรื่องเวียนหัวทั้งนั้นเลย มันไม่เหมือนเรามาอยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธของเรา

    หลวงพ่อทำมาแต่เด็ก มันก็เลยน่าจะเป็นปัจจัยหลักตัวหนึ่งที่ทำให้ไม่เอาโลก ไม่หลงโลกข้างนอก เขาสนุกเฮฮาอะไร ไม่เอา เห็นไม่มีสาระตลอดเลย ใจมันก็อยากภาวนา แต่ว่ามันทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้วิธีปฏิบัติ รู้แต่วิธีทำสมาธิ ฉะนั้นทำแต่สมถะจนมาเจอหลวงปู่ดูลย์ เจอหลวงปู่ดูลย์แล้วท่านสอนให้ดูจิตตัวเอง ดูจิตทีแรกก็ยังดูผิด ไปดูแล้วเป็นสมถะอีก เพราะมันเคยชินที่จะทำสมถะ พอทำสมถะมานานๆ หลวงพ่อจับหลักของการทำสมถะได้ มันไม่ยากหรอก

    อย่างพวกเราภาวนาแล้วบอกไม่เคยสงบๆ เราไม่รู้หลัก ไม่รู้เคล็ดลับ มันมีเคล็ดลับง่ายๆ เลย อันแรกรู้จักเลือกอารมณ์กรรมฐานที่เราอยู่ด้วยแล้วเรามีความสุข อารมณ์นั้นต้องไม่เป็นอารมณ์ที่ยั่วให้กิเลสเกิด อย่างหลวงพ่อรู้ตัวว่าหายใจเข้าพุท หายใจออกโธแล้วมีความสุข พอเราอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง จิตมันก็ไม่เที่ยววอกแวกไปที่อื่น

    การที่จิตของเราวิ่งพล่านไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางใจหนีไปคิดโน้นคิดนี้ ในความเป็นจริงแล้วมันวิ่งพล่านๆ เพื่อหาความสุข มันวิ่งพล่านๆ เพื่อหนีความทุกข์ แต่ถ้าเรารู้จักเลือกอารมณ์กรรมฐานที่จิตใจเราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข มาให้จิตมันอยู่ จิตมันมีความสุขอยู่แล้ว มันก็จะไม่หนีไปเที่ยว มันก็จะสงบอย่างรวดเร็วเลย อันนี้คือเคล็ดลับ ฉะนั้นถ้าเราอยากทำสมาธิให้จิตสงบ อันแรกเลยต้องสำรวจตัวเองว่าเราอยู่กับกรรมฐานชนิดไหนแล้วจิตใจมีความสุข ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ มันเป็นหลักอย่างนี้เลย

    พอเราอยู่กับอารมณ์ที่มีความสุข จิตก็ไม่หิวโหย จะต้องไปดิ้นรน ไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย หรือไปคิดอะไรเพลินๆ เพื่อจะหาความสุข เพราะเราสุขอยู่แล้ว แล้วมันก็ไม่ต้องดิ้นรนหนีความทุกข์ เพราะตอนนั้นมันสุขอยู่แล้ว เคล็ดลับของมันมีเท่านี้เอง พอเราฝึกชำนิชำนาญ เรานึกอยากจะเข้าที่พักของเรา เราก็พักได้ทันทีเลย แวบเดียวเราก็เข้าสมาธิไปแล้ว

    ตอบลบ
  2. ถ้าไม่รู้วิธีก็จะไปนั่งบังคับตัวเอง เช่น (หายใจแรงๆ) หายใจเมื่อไรจะสงบๆ ไม่สงบหรอก เพราะไม่มีความสุข เวลาให้ทำกรรมฐานรู้สึกคอขาดบาดตาย ทุรนทุราย นั่งไม่เป็น เดินไม่เป็น เครียดไปหมด นั่งจนคอเคล็ดหลังเคล็ด เดินจนกระทั่งเกร็ง ตะคริวกินอะไรอย่างนี้ จะไปมีความสุขที่ไหน สังเกตง่ายๆ อย่างเราไปเดินจงกรม เราตั้งใจเดินสักชั่วโมงหนึ่ง แข้งขาจะหัก ทีเดินชอปปิงเช้ายันเย็นไม่เห็นเป็นไรเลย เพราะอะไร เพราะมันมีความสุขที่เดินดูโน่นดูนี่ อันนั้นก็เป็นสมาธิเหมือนกัน อย่างจะไปเดินชอปปิ้ง แต่มันเป็นสมาธิออกนอก

    ถ้าอยากเป็นสมาธิที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว เราก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข ก็อยู่ตรงนั้นล่ะ ไม่ได้บังคับจิต จิตมันพอใจที่จะอยู่ตรงนี้เอง เพราะมันมีความสุข หลวงพ่อเคยเปรียบเทียบให้ฟัง จิตมันเหมือนเด็ก มันก็เที่ยวซนไปเรื่อยๆ เด็กยุคก่อนซน วิ่งออกไปนอกบ้าน ยุคนี้เด็กมันซนทางอินเทอร์เน็ต เหมือนไม่ซน มันซึมๆ อยู่กับที่ เล่นมากๆ ไม่ดี สมองเสื่อม โง่ อยู่กับโลกไม่เป็น

    เด็กรุ่นหลวงพ่อต้องไปเล่นกับเพื่อน มันเรียนรู้การเข้าสังคมตั้งแต่เล็กๆ ออกไปสัมผัส ไปอะไร เพราะมันรู้สึกมีความสุข อยู่บ้านแล้วเบื่อๆ อะไรอย่างนี้ ผู้ใหญ่ฉลาดเขาก็จะหาอะไรมาหลอกล่อให้เด็กอยู่ในบ้าน ทำชิงช้าเอาไว้ให้มันเล่นบ้างอะไรบ้าง ก็อยู่ในบ้าน ไม่ไปไหน คือมันมีอารมณ์ที่ชอบใจ ก็ไม่หนีไปไหน จิตนี้ล่ะเหมือนเด็ก หาอารมณ์ที่มันชอบใจมาเป็นเหยื่อล่อมัน มันจะไม่ฟุ้งซ่าน มันจะสงบอย่างรวดเร็วเลย

    พอเราฝึกนานๆ มันก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าวสีขึ้น วสีของสมาธิมี 4 อย่าง ชำนาญในการเข้าสมาธิ นึกจะเข้าเมื่อไรก็เข้าได้ ชำนาญในการทรงอยู่ บางคนชำนาญในการเข้าแล้วเข้าปุ๊บกระเด้งออกมาเลย จิตสะท้อนออกมาเลย อันนั้นไม่ชำนาญในการทรงอยู่ ชำนาญอันที่สาม อันนี้ยากที่สุดเลย ชำนาญในการเจริญปัญญาในสมาธิ อันนี้จะต้องเป็นพวกที่ชำนิชำนาญในการทำวิปัสสนา ในการพิจารณาอะไรมาแล้ว

    อย่างถ้าเข้ารูปฌานก็อาจจะพิจารณารูปได้ ถ้าเข้าถึงอรูปฌาน ต้องพิจารณาจิตเพราะไม่มีรูปให้พิจารณา อันนี้ต้องฝึก ไม่ชำนาญพอ ไปเจริญปัญญาในฌานไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้หรอก ส่วนใหญ่พอทำความสงบพอสมควรแล้ว จิตถอนออกมาแล้วก็มาเดินปัญญาข้างนอก อันนั้นเรียกว่าปัญญานำสมาธิ แต่ถ้าเราชำนาญจริงๆ เราใช้สมาธิและปัญญาควบกัน ก็คือไปเจริญปัญญาอยู่ในสมาธิเลย แต่ส่วนใหญ่มันทำไม่ได้ ก็จะทำสมาธิก่อนแล้วออกมาอยู่ข้างนอก อีกทางหนึ่งก็ใช้ปัญญานำสมาธิ เป็นวิธีที่หลวงพ่อมาสอนพวกเราเป็นหลักนี่ล่ะ เพราะพวกเราเข้าฌานไม่เป็น ใช้ปัญญานำสมาธิเอา ไปได้ไม่ใช่ไปไม่ได้

    ตอบลบ
  3. เคล็ดลับการทำวิปัสสนา

    ถ้าใครบอกไปไม่ได้ให้ไปดูพระสูตรอันหนึ่งชื่อยุคนัทธสูตร เป็นพระสูตรที่พระอานนท์ท่านแสดงเอาไว้ ท่านแสดงถึงการปฏิบัติ ท่านแสดงธรรมะไว้ 4 ข้อ ข้อหนึ่งคือเรื่องสมาธินำปัญญา ปัญญานำสมาธิ สมาธิและปัญญาควบกัน แล้วอันสุดท้ายเป็นหมวดชื่อธัมมุทธัจจะ ธัมมุทธัจจะจริงๆ ก็คือวิปัสสนูปกิเลสนั่นล่ะ พอเจริญปัญญาถูกต้องมา ไม่ว่าจะเจริญแบบไหนสุดท้ายก็จะมาลงที่ธัมมุทธัจจะ คือวิปัสสนูปกิเลส แล้วท่านก็สอนวิธีพ้นจากวิปัสสนูปกิเลส คือการทำจิตให้เข้าฐานนั่นล่ะ ก็หายจากวิปัสสนูปกิเลส

    เพราะฉะนั้นมันมีอยู่เยอะแยะเลย ให้เราเลือกเท่าที่เราทำได้ หลักของสมถะ บอกแล้วอยู่กับอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง แล้วหลักของวิปัสสนามีไหมประโยคเดียว มี แต่ก่อนที่หลวงพ่อจะสรุปออกมาได้ประโยคเดียว หลวงพ่อก็ปฏิบัติมามากมาย อย่างสมถะกว่าหลวงพ่อจะสรุปได้ 20 ปี 22 ปีกว่าจะสรุปออกมาได้ว่าเคล็ดลับของมันอยู่ตรงไหน วิปัสสนาก็เหมือนกัน ใช้เวลาแต่ใช้เวลาไม่เยอะหรอก ก็สรุปออกมาได้แล้ว

    ถ้าเราจะทำวิปัสสนาเคล็ดลับมีอันเดียวล่ะ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คำว่าด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เป็นคำอยู่ในวงเล็บก็ได้ หลักจริงๆ ก็คือมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง อันนี้หลักของวิปัสสนา แต่หลวงพ่อพบอันหนึ่งว่าเราจะสามารถรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ตรงนี้เป็นเคล็ดลับ ตรงที่ว่า ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ใครๆ ก็รู้ สำนักไหนก็รู้ทั้งนั้น แต่เคล็ดลับที่หลวงพ่อค้นพบก็คือเราจะมีจิตที่ตั้งมั่น ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นและก็เป็นกลาง เราถึงจะมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้

    ตรงนี้มันก็จะไปตรงกับตำราบอกว่าสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ฉะนั้นเราต้องมีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่มีสัมมาสมาธินั่นล่ะ เราถึงจะเจริญปัญญาได้จริง ที่จ้ำจี้จ้ำไชพวกเราหนักหนาสาหัส ส่วนใหญ่เรื่องนี้ล่ะ เพราะว่าอยู่ๆ เราจะไปเจริญวิปัสสนาจะมีสติรู้กายรู้ใจอะไรอย่างนี้ มันไม่เห็นความจริง แต่มันจะคิดเรื่องความจริง มันไม่เห็นแต่มันคิดเอา เห็นกายก็คิดว่ากายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตก็คิดว่าจิตเป็นไตรลักษณ์ มันไม่ได้เห็นความจริง แต่มันคิดเอา มันจะเห็นความจริงได้เมื่อจิตมีพลังมากพอ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็น ถ้ามีแต่จิตเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง มันก็ไม่เห็นสิ เพราะฉะนั้นเราถึงต้องพัฒนาจิตที่เป็นผู้รู้ผู้เห็นขึ้นมาก่อน ตัวนี้ตัวสำคัญ นี่เคล็ดลับเลยล่ะ ที่ทำให้ทำวิปัสสนาแล้วประสบความสำเร็จง่าย ถ้าไม่มีไม่มีทางเลย ถ้าไม่มีจิตที่เป็นผู้รู้ตัวนี้

    ที่สอนเรามากมายก็เพื่อพัฒนาจิต อันหนึ่งให้มีความสงบเพื่อจะได้มีกำลัง อันที่สองพัฒนาสมาธิขึ้นมาเพื่อให้จิตมันตั้งมั่น พอจิตมันตั้งมั่นมันจะตั้งตัวเด่นดวงขึ้นมา แล้วมันจะเริ่มเห็น มันจะเริ่มเดินปัญญาได้ พอจิตมันตั้งมั่นขึ้นจริงๆ แล้ว มันจะรู้สึกเวลาสติระลึกลงในร่างกาย มันจะรู้สึกทันทีเลยร่างกายไม่ใช่เราหรอก ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู เห็นไหม เห็นไตรลักษณ์แล้ว ไม่ได้คิดเลย มันรู้สึกเลย ถ้าคิดเอาใช้ไม่ได้ รู้สึกเอาถึงจะใช้ได้

    ตอบลบ
  4. ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นและก็เป็นกลาง
    เราถึงจะมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้


    พอจิตเราตั้งมั่น เป็นกลาง ทีแรกตั้งมั่นแล้วก็ยังไม่เป็นกลางหรอก ต้องฝึกอีกนานเหมือนกัน กว่ามันจะเป็นกลางได้ มันตั้งมั่นขึ้นมาแล้วมันก็เห็นสภาวะ เช่น มันเห็นว่าความสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ความทุกข์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มันมีความตั้งมั่น มันก็จะเห็น หรือมันเห็นร่างกายหายใจออก จิตใจเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจเข้า จิตใจเป็นคนรู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนรู้ นี่กายกับใจมันแยกออกจากกัน การแยกขันธ์ แยกรูป แยกนามได้ นั่นล่ะคือการเจริญปัญญาขั้นต่ำสุด ขั้นเบสิก เรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณ มีปัญญาแยกรูปนามได้ ปัญญาเกิดจากอะไร บอกแล้วเกิดจากสมาธิที่ถูกต้อง ไม่ใช่เกิดจากสมาธิเฉยๆ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ฉะนั้นเราต้องมีสัมมาสมาธิ จิตที่ตั้งมั่นนั่นล่ะคือจิตที่มีสัมมาสมาธิ

    พอจิตมันตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย มันจะรู้สึกทันทีกายไม่ใช่เราหรอก สติระลึกรู้เวทนา มันจะเห็นทันทีเลย เวทนาก็ไม่ใช่เรา เป็นของเกิดดับ สติระลึกรู้สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว โลภ โกรธ หลงอะไร ก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เราหรอก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา บังคับอะไรมันไม่ได้ จิตมันเดินปัญญา มันเดินกันอย่างนี้ เดินด้วยการเห็นความจริง ไม่ใช่คิดเอา จะเห็นความจริงได้ จิตต้องตั้งมั่น

    พอเห็นความสุข เห็นจริง ความสุขกับจิตคนละอันกัน แหม แต่มันยังชอบความสุขอยู่ มันยังอยากได้ความสุข ก็พยายามดิ้นรนจะให้ได้ความสุขมา เจอความทุกข์ก็ดิ้นรนจะหนีความทุกข์ อันนี้ยังไม่เป็นกลาง พอตั้งมั่นเราจะเห็นสภาวะได้แล้ว เห็นไตรลักษณ์ได้แล้วแต่ยังยอมรับไม่ได้ ใจมันไม่ยอมรับ ต้องเห็นซ้ำๆๆ ไปเรื่อย ในที่สุดปัญญามันแก่กล้าขึ้น มันก็จะเห็นเลย ความสุขมันก็ไม่ยั่งยืน แล้วมันก็บังคับไม่ได้ ความทุกข์ก็ไม่ยั่งยืน มันก็บังคับไม่ได้ กุศลหรืออกุศลก็ไม่ยั่งยืน บังคับไม่ได้ ร่างกายนี้ก็ไม่ยั่งยืน บังคับไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายอะไร ก็บังคับไม่ได้ ใจมันจะค่อยเข้าสู่ความเป็นกลาง มันเป็นกลางด้วยปัญญา มันไม่ได้เป็นกลางด้วยสติ ไม่ได้เป็นกลางด้วยสมาธิ แต่เป็นกลางด้วยปัญญา จิตที่เดินวิปัสสนาเต็มภูมิ มันจะเป็นกลางด้วยปัญญาขึ้นมา

    ตรงที่มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นซ้ำไปเรื่อยๆ เห็นไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตจะเข้าสู่ความเป็นกลาง ในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า “วิเนยยะ โลเก อภิชฌา โทมนัสสัง ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้” คือผลของการที่เราเจริญสติปัฏฐานจนถึงขั้นวิปัสสนากรรมฐาน สุดท้ายมันจะถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้ มันจะเห็นเลยความสุขในโลกที่แย่งชิงกัน หาสาระอะไรไม่ได้ เราเกลียดชังความทุกข์ เราก็หนีมันไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับมันอย่างนั้นล่ะ แล้วใจก็เลยหมดความดิ้นรน ใจเข้าสู่ความเป็นกลาง ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลก

    ตอบลบ
  5. หลักของการปฏิบัติ วันนี้เล่าให้ฟังเป็นภาพรวมทั้งหมดเลย ไปรีรันฟังแล้วฟังอีกหลายๆ รอบให้เข้าใจแล้วลงมือทำ แล้วมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้ไปเรื่อยๆ จิตหมดแรง กลับมาทำสมถะ ทำความสงบเข้ามา พอสงบแล้วซื่อบื้ออยู่เฉยๆ กระตุ้นมันให้มันตั้งมั่นมาทำงาน ไม่ใช่สงบเฉยๆ กระตุ้นมันโดยการสังเกตความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตเอาเรียกว่าจิตตสิกขา เราก็จะได้จิตที่ตั้งมั่น

    จิตตั้งมั่นแล้ว แยกรูปนามเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน แยกนามต่อไปอีก แยกรูปต่อไปอีกก็ได้ รูปหายใจออกก็อันหนึ่ง รูปหายใจเข้าก็อันหนึ่ง รูปยืนก็อันหนึ่ง รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอนก็เป็นคนละอันๆ ไป แยก ส่วนนามเราก็แยกได้ เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์มันก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง นี่แยกๆๆ ออกไป

    ต่อไปจะเห็นสภาวธรรมทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา ถ้าเข้าใจตรงนี้ด้วยใจจริงๆ คือพระโสดาบัน ฉะนั้นเราจะเข้าใจได้ก็ต้องพาจิตให้มันเห็นของจริงซ้ำๆๆ ลงไป แล้วพอดูๆ แล้วหมดกำลัง กลับมาทำสมาธิ กลับมาทำสมถะใหม่ ชาร์จพลังใหม่ คล้ายๆ แบตหมดแล้ว มาชาร์จแบต ถ้าจิตมีกำลังก็อย่าเฉยๆ อยู่ อย่าสงบโง่ๆ อยู่ ดูกายดูใจมันทำงานต่อไป อันนี้คือทั้งหมดของการปฏิบัติ



    หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
    วัดสวนสันติธรรม
    13 พฤศจิกายน 2565

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น