คำสอนหลวงพ่อปราโมทย์

ความคิดเห็น

  1. เมื่อก่อนหลวงพ่อยังไม่บวช มีพระองค์หนึ่งท่านภาวนาเก่ง ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์เหมือนกัน ท่านก็ภาวนาดี ท่านบอกในเมืองสุรินทร์ ท่านสิ้นหลวงปู่แล้ว ท่านไม่รู้จะพึ่งใครแล้ว ไม่มีใครจิตไวเท่าท่าน ท่านมาหาหลวงพ่อ เคยประลองวิทยายุทธ์กัน ก็จิตว่องไว ท่านว่าอย่างนั้น ท่านก็บอก ท่านภาวนา ท่านจบแล้ว หลวงพ่อก็ถามท่าน เราไม่ได้มีฤทธิ์มีเดชอะไร เราก็ใช้ถามเอาว่าท่านยังยึดถือจิตอยู่ไหม ท่านบอกไม่ยึดๆ ไอ้นั่นก็ไม่ยึด ไอ้นี่ก็ไม่ยึด หลวงพ่อก็เลยบอกท่านบอกว่า “หลวงพ่อผมสงสัยจังเลย อาฬารดาบสกับอุทกดาบสตอนนี้อยู่ที่ไหน” ท่านก็ถาม “หา ดาบสอะไรนะ ชื่ออะไร” บอกให้ท่านฟัง ท่าน “เออ จำได้แล้ว” เดี๋ยวคืนนี้ท่านจะไปดู

    พอเช้ามาเจอท่าน ท่านก็บอก “ปราโมทย์เราผิดแล้ว จิตเราเหมือนดาบสพวกนั้น” บอก “จิตเหมือนดาบสพวกนั้นเป็นอย่างไร” บอก “โห อยู่ไกลมากเลย ไกลมากเลย ตามไปดูแสนไกล แล้วอีกนานเลยกว่าจะกลับมาสู่โลกได้ ไม่รู้อีกกี่พระพุทธเจ้าจะได้กลับมาอีก” จิตท่านไปเสมอกับดาบส พอท่านเห็นของท่านเอง ไม่ใช่หลวงพ่อเห็น แค่แกล้งถามท่านให้ท่านไปสังเกตเอา ท่านรู้ว่าจิตท่านอย่างนี้ ยังเกิดได้อีก ก็ไปภาวนาต่อ

    หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
    วัดสวนสันติธรรม
    5 พฤศจิกายน 2565

    ตอบลบ
  2. เรามีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรมะแล้วก็รีบลงมือปฏิบัติกัน ศีล 5 รักษาไว้ก่อน ทุกวันทำในรูปแบบ ในรูปแบบอันไหนก็ได้ที่เราถนัด ถนัดพุทโธ เราก็พุทโธๆๆ ของเราไปทั้งวัน ตอนที่เราพุทโธๆ อยู่ จิตเราก็ไม่หนีไปคิดเรื่องอื่น กิเลสมันเกิดตอนหลงคิดเท่านั้น ถ้ามันไม่หลงคิด กิเลสไม่มีช่องให้เกิดหรอก สังเกตดูตอนที่โกรธ เราก็หลงคิดไป คิดเอาว่าคนนี้ไม่ดีแล้วโกรธ คนนี้ทำไม่ถูก เราก็โกรธ หรือเราคิดว่าคนนี้สวย คนนี้ดี หลงคิดอย่างนี้ เราก็ไปชอบเขา ฉะนั้นกิเลสมันเกิดทีเผลอ

    บางคนมาภาวนา พุทโธๆๆ ไป แล้วจิตมันเผลอไปคิด รู้ทันมัน ไม่ได้พุทโธแล้วห้ามคิด พุทโธๆ ไปแล้วจิตมันหลงไปคิด รู้ทัน การหลงคิดก็ดับ ความโลภ โกรธ หลงอะไรมันเกิดไม่ได้แล้ว เราก็อยู่กับพุทโธอีก สักพักหนึ่งจิตก็หนีไปคิดอีก เราก็รู้ทันอีก มีสติรู้ทันอีก จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาอีก มันก็จะเกิดสภาวะ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็รู้ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็รู้ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งปัญญามันจะเกิดขึ้น จะเข้าใจจิตนี้มันไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง เราจะเห็นอย่างนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราเคยมีจิตรู้

    คนในโลกไม่เคยมีจิตรู้ คนในโลกมีแต่จิตหลง เพราะฉะนั้นมันแยกไม่ออกว่าจิตตรงนี้กับจิตเมื่อกี้ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเราเคยมีจิตรู้ เราจะเห็นตอนนี้รู้ แป๊บเดียวหลง พอหลงเรารู้ทันก็เกิดจิตรู้อีก รู้อีกอยู่ประเดี๋ยวเดียวก็หลงอีก สุดท้ายปัญญามันถึงจะเกิด โอ้ จิตรู้มันก็ไม่เที่ยง จิตหลงมันก็ไม่เที่ยง แต่ถ้าเราไม่เคยมีจิตรู้ มันจะเหมือนจิตหลงเที่ยง ที่จริงคือจิตหลงก็ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงเหมือนกัน แต่มันหลงๆ หลงๆๆ ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ มันเลยรู้สึกว่าจิตหลงเที่ยง แต่ถ้าเรามีจิตรู้มาคั่นจิตหลง เราก็จะรู้จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง

    ตอบลบ
  3. ถ้าเรามีจิตรู้เราก็จะเห็นเลยจิตรู้ก็เป็นดวงหนึ่ง จิตหลงไปก็เป็นดวงหนึ่ง แล้วถ้าเราเห็นละเอียด เราจะเห็นละเอียดอีก ตรงที่หลงก็มีหลงไปเพ่ง หลงไปเพ่งอารมณ์กับหลงติดอยู่ในโลกของความคิด นี่ลืมอารมณ์ หลงก็มีหลายแบบซอยเข้าไปอีก หลงสารพัดจะหลง หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปคิดทางใจ หลงไปเพ่งทางใจ จิตก็มีหลายแบบ เราจะเห็นว่าจิตแต่ละดวงๆ มันเป็นคนละตัวกัน จิตรู้ก็ตัวหนึ่ง เกิดแล้วก็ตายไป จิตหลงก็เป็นอีกตัวหนึ่ง เกิดแล้วก็ตายไป จิตสุขก็เป็นอีกดวงหนึ่ง จิตทุกข์ก็เป็นอีกดวงหนึ่ง จิตดีก็เป็นอีกดวงหนึ่ง จิตโลภ โกรธ หลงก็แยกออกไปเป็นแต่ละดวงๆ

    พอเรามีจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาแล้วเราสังเกตจิต เราถึงจะเห็นสันตติของจิตขาด มิฉะนั้นเราจะรู้สึกอยู่ตลอดว่าจิตมีดวงเดียว ปุถุชนจะเห็นว่าจิตมีดวงเดียว ผู้ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่เคยลงมือปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม จะคิดว่าจิตมีดวงเดียวอยู่ในนี้ ดวงนี้เดี๋ยวนี้กับจิตเมื่อวานซืนก็ดวงเดียวกัน จิตวันนี้กับจิตเมื่อชาติก่อนก็ดวงเดียวกัน จิตวันนี้กับจิตชาติหน้าก็ดวงเดียวกัน มันไม่สามารถเห็นสันตติคือความสืบเนื่องของจิตขาด ที่จริงมันเป็นดวงหนึ่งๆ ดวงหนึ่งๆ เกิดดับๆ อย่างนี้ เราจะเห็นสันตติของจิตขาดได้ เราต้องได้จิตรู้ก่อน ต้องมีจิตรู้ขึ้นมา จิตรู้จะเป็นตัวตัดจิตหลงให้ขาดออกเป็นท่อนๆ ส่วนจิตหลงสารพัดจะหลงเลย หลงเยอะแยะ มีมากมายนับไม่ถ้วน

    ค่อยๆ ฝึก ที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเราว่าต้องฝึกจนได้จิตรู้ขึ้นมาเพื่อสันตติจะได้ขาด สันตติขาดนั่นล่ะเราขึ้นวิปัสสนาได้ ถ้าสันตติไม่ขาดทำวิปัสสนาไม่ได้ ในอภิธรรมเขาก็สอนทำนองนี้เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีจิตรู้ เราก็จะมีแต่จิตหลง เดี๋ยวนี้หลง ต่อไปก็หลง ในเมื่อก่อนนี้ก็หลง หลงๆ หลงๆ แล้วมันก็คิดว่าจิตมีดวงเดียว แต่ถ้าเรามีจิตรู้ มันก็จะเห็นจิตหลงเกิดขึ้น แล้วจิตรู้มาแทรก จิตหลงเกิดขึ้น จิตรู้มาแทรก จิตหลงเกิดอีก จิตรู้มาแทรก ก็ขาดเป็นช่วงๆ

    ตอบลบ
  4. ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แต่เคล็ดลับของการทำกรรมฐานก็คือ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิต เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ทำไปเรื่อยๆ มันจะมุ่งไปสู่สมถะ สมมติไปดูท้องพองยุบ ดูไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ จิตแนบลงไปอยู่ที่ท้อง การที่จิตลงไปแนบ ไปนิ่ง ไปสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว อันนั้นคือการทำสมถะ ไม่ได้ทำให้เกิดปัญญาอะไรหรอก หรือเราหายใจเข้า หายใจออก หรือท่องพุทโธๆ ไป จิตสงบอยู่กับลมหายใจ จิตสงบอยู่กับการบริกรรมพุทโธอย่างนี้ อันนั้นคือสมถะ

    เพราะฉะนั้นไม่ว่ากรรมฐานอะไรมันเสมอกันหมด มันไม่มีดี ไม่มีเลวกว่ากัน จะท่องนะ มะ พะ ทะ จะท่องนะโม พุทธายะ จะท่องสัมมา อรหัง มันก็เหมือนกันหมด แต่ถ้าเมื่อไรเราทำกรรมฐาน แล้วเราคอยรู้ทันจิตตัวเอง เราจะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา เช่น เราหายใจอยู่แล้วจิตหลงไปคิด เรารู้ว่าจิตหลงไปคิด จิตหลงคิดดับจะเกิดจิตรู้ขึ้นมาแทน

    ฝึกเรื่อยๆ เรื่อยๆ ต่อไปชำนิชำนาญ จิตรู้เกิดถี่ๆ ขึ้นมา เราก็จะเริ่มเข้าใจจิตรู้แล้ว แล้วต่อไปเราก็จะเห็นจิตรู้กับจิตหลงมันคนละดวงกัน จิตสุขกับจิตทุกข์ก็คนละดวง จิตโลภกับจิตไม่โลภก็คนละดวง จิตโกรธกับจิตไม่โกรธก็คนละดวง จิตหลงกับจิตไม่หลงก็คนละดวง จิตฟุ้งซ่านกับจิตหดหู่ก็คนละดวงกัน จะหัดดูจิตก็ต้องทำอย่างนี้ บางคนก็นึกว่าดูจิตก็ดูๆๆ เอาอะไรไปดู ไม่มี ไม่มีเครื่องมือสำคัญคือไม่มีสมาธิ ไม่มีสติที่ถูกต้อง ถ้ามีสติ มีสมาธิที่ถูกต้อง เราจะเกิดตัวรู้ขึ้นมา

    ตอบลบ
  5. บางคนภาวนาได้เร็ว เพราะจิตมีสมาธิที่ถูกต้องมากพอ จิตจะเป็นผู้รู้ ไม่ใช่สมาธิชนิดสงบซื่อบื้ออยู่ ไม่ใช่สมาธิชนิดเห็นนิมิตโน้นนิมิตนี้ฟุ้งซ่าน ยังใช้ไม่ได้ ฝึกจนจิตเป็นผู้รู้แล้วดูสภาวะไป สันตติมันจะขาด สันตติขาดแล้ว นั่นล่ะทำวิปัสสนาอยู่

    ทำไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งจิตมันก็สรุปรวบยอด ความรู้รวบยอดเกิดในขณะของอริยมรรค เกิดเอง ไม่มีใครสั่งให้มรรคผลเกิดได้หรอก มันเกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญานั้นสมบูรณ์แล้ว ปัญญาที่สมบูรณ์คือปัญญาที่มันเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปนั่นล่ะ สภาวะที่เห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะคือสภาวะที่มีปัญญา เราจะเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดดับได้ จิตต้องตั้งมั่น ทรงสัมมาสมาธิ ที่หลวงพ่อเรียกว่าเป็นจิตผู้รู้นั่นล่ะ คือจิตที่ทรงสมาธิอยู่ จิตเราจะทรงสมาธิได้เข้มแข็ง ถ้าศีลของเราดี แต่ถ้าศีลเราด่างพร้อย สมาธิจะอ่อนยวบยาบเลย สมาธิไม่มีกำลังล่ะก็จิตก็ไม่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้หรอก มันเดินปัญญาไม่ได้จริงหรอก


     

    หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
    วัดสวนสันติธรรม
    30 ตุลาคม 2565

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น